วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

วิธีการสัมภาษณ์ (Interview method)



        การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์ เป็นวิธีที่ผู้เก็บข้อมูลต้องมีการสนทนากับผู้ให้ข้อมูลหรือ กลุ่มเป้าหมายซึ่งอาจจะเป็นการสัมภาษณ์แบบต่อหน้า (Face to Face) หรือการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ก็ได้ ในการสัมภาษณ์ผู้สัมภาษณ์จะต้องมีการเตรียมตัวก่อนการสัมภาษณ์ เช่น การออกแบบแบบบันทึกข้อมูลในการสัมภาษณ์ การนัดหมายผู้ถูกสัมภาษณ์ เป็นต้น เมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์ต้องชี้แจงวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ลักษณะของข้อมูลที่ต้องการ การนำผลการสัมภาษณ์ไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เข้าใจและมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์ นอกจากนั้นผู้สัมภาษณ์จะต้องมีการชี้แจงสิทธิของผู้ถูกสัมภาษณ์ในการให้ข้อมูลดังกล่าวด้วย
        การใช้แบบสัมภาษณ์สำหรับเก็บข้อมูลด้านการยศาสตร์อาจจะมีลักษณะเหมือนกับการใช้แบบสอบถามที่ให้ผู้ตอบตอบเองแต่การสัมภาษณ์เป็นการที่สร้างความมั่นใจในข้อมูลมากยิ่งขึ้นเพราะสามารถลดปัญหาของการเข้าใจคำถามผิดพลาด หรือความสับสนในข้อคำถามได้ แบบสัมภาษณ์โดยทั่วไปใช้ในการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพเบื้องต้น หรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ในด้านสุขภาพ มักจะประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วนดังนี้
        (1) ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานข้อมูลในการใช้ชีวิต ตัวอย่างเช่น
        - ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เพศ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง สถานะภาพการสมรส
        - ข้อมูลในการปฏิบัติงาน เช่น ลักษณะงาน จำนวนชั่วโมงทำงาน ประสบการณ์ในการทำงาน ตำแหน่งงาน หน่วยงาน ช่วงเวลาในการทำงาน (กะ)
        - ข้อมูลในการใช้ชีวิต เช่น การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การพักผ่อน งานอดิเรก เป็นต้น
        ข้อมูลทั่วไปอาจจะมีประเด็นที่แตกต่างไปจากที่กล่าวข้างต้นทั้งนี้ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการศึกษานั้นๆ
        (2) ข้อมูลภาวะความไม่สบายที่เกิดขึ้น ได้แก่ ข้อมูลความผิดปกติของร่างกาย ข้อมูลสภาพความเครียดในการปฏิบัติงาน ตัวอย่างเช่น
        - ข้อมูลความผิดปกติของร่างกาย โดยทั่วไปในการประเมินความผิดปกติของร่างกายจะเป็นการสอบถามถึงประวัติอาการปวดหรือบาดเจ็บกล้ามเนื้อในช่วง 7 วัน และในช่วง 6 เดือน ล่าสุด โดยตำแหน่งของร่างกายที่เกิดอาการปวดเมื่อย หรือมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ เนื่องจากการทำงาน มักจะนิยมประยุกต์มาจากแบบสอบถามมาตรฐานที่มีชื่อว่า The Standardized Nordic Questionnaires for the Analysis of Musculoskeletal Symptoms (Raanaas & Anderson, 2008)
        - ข้อมูลความเครียดในการปฏิบัติงานเป็นการประเมินสภาวะทางจิตของผู้ปฏิบัติงาน โดยทั่วไปจะใช้แบบประเมินความเครียดที่มีการออกแบบเป็นมาตรฐานไว้อยู่แล้ว เช่น แบบประเมินความเครียดของกรมสุขภาพจิต เป็นต้น