วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

ขั้นตอนในการประเมินเพื่อการปรับปรุง(ต่อ 3)



ขั้นตอนที่ 5 : การเสนอแนวทางในการแก้ไข
        หลังจากที่ได้มีการสรุประดับของงานที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแล้ว การค้นหาวิธีการหรือแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงก็นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะทำให้ปัญหาด้านการยศาสตร์ในงานที่มีความเสี่ยงเหล่านั้นหมดไปอย่างถาวร ถ้าแนวทางในการแก้ไขไม่ได้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์และเสนอแนะตามแนวทางที่ถูกต้อง ก็มักจะพบว่าจะมีปัญหาลักษณะเดิมกลับมาอีกหรือไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ การหาแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงควรต้องย้อนกลับไปดูผลจากการประเมินเชิงลึกหรือการประเมินละเอียดเพื่อทำการวิเคราะห์ว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆอยู่ ณ จุดใดและทำการปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงนั้นๆทั้งนี้เนื่องจากแบบสำรวจหรือแบบประเมินความเสี่ยงทั้งหลายออกแบบมาจากการศึกษาและวิจัยถึงปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่ออาการเจ็บปวดหรือปวดเมื่อยของผู้ปฏิบัติงาน การเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขอาจจะมีได้ 2 แนวทางหลักดังนี้
        (1) การแก้ไขปรับปรุงด้วยวิธีการทางวิศวกรรม เช่น การออกแบบสถานีงานใหม่ การปรับปรุงแก้ไขเครื่องมือ เครื่องจักให้มีความเหมาะสม การใช้เครื่องผ่อนแรง การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น แสง เสียง ความร้อน ความชื้น เป็นต้น
        (2) การแก้ไขด้วยการจัดการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือขั้นตอนในการทำงาน การปรับเปลี่ยนท่าทางการทำงาน การปรับปรุงตารางการทำงาน การพักหรือการหมุนเวียนงานการฝึกอบรมให้ความรู้ การดูแลส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน การสร้างวัฒนธรรมหรือสร้างนิสัยที่ดีของคนในองค์กร เช่น การออกกำลังกาย การรณรงค์งดเหล้า-บุหรี่ การใช้ชีวิตที่สมดุล เป็นต้น