วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความหมายของการประเมินทางการยศาสตร์



          การประเมินทางการยศาสตร์ (Ergonomic assessment) เป็นขั้นตอนของการวิเคราะห์ท่าทางวิธีการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ลักษณะและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ขนาดและการจัดวางของสถานีงานและรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมได้แก่ อุณหภูมิ แสงสว่าง เสียง ความร้อน คลื่น เป็นต้น ว่ามีความเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานหรือไม่
          การประเมินทางการยศาสตร์มีได้หลายวิธีการไม่ว่าจะเป็นการประเมินโดยการให้ข้อมูลของผู้ปฏิบัติงานเอง หรือการประเมินโดยผู้ประเมินที่มีความรู้ด้านการยศาสตร์ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีผู้คิดค้นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเพื่อช่วยให้การประเมินมีความสะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้น และสามารถทำให้ลดความต้องการในการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการยศาสตร์ในการประเมินลงได้
          ลักษณะการประเมินด้านการยศาสตร์โดยทั่วไปจะประเมินตามภาระงานและลักษณะการใช้แรงของกล้ามเนื้อของผู้ปฏิบัติงาน โดยภาระงานแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ
1)      ภาระงานทางกาย (Physical work load) ได้แก่ ท่าทางของร่างกาย แรงที่ใช้ในการทำงาน ซึ่งอาจเกิดจาก การถือ การผลัก การดึง การยก การวาง การหาม การแบก การหมุน การบิด การกระแทก เป็นต้น
2)      ภาระงานทางจิตใจ (Mental work load) ได้แก่ สิ่งที่ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึกทางอารมณ์
3)      ภาระงานทางสิ่งแวดล้อม (Environmental work load) เป็นสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน ได้แก่ แสงสว่าง เสียง อุณหภูมิ ความชื้น เป็นต้น
          ส่วนลักษณะการใช้แรงของกล้ามเนื้อในงานแบบต่างๆจะพิจารณาเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ
1)      งานแบบสถิต (static word) คือ ท่าทางที่ทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อต่อเนื่องเป็นเวลานาน
2)      งานแบบพลวัต (dynamic work) คือ ท่าทางการทำงานที่ร่างกายมีการเคลื่อนที่กล้ามเนื้ออยู่เสมอในลักษณะทั้งบีบและคลายตัว