วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การประเมินโดยใช้ดัชนีความผิดปกติ



การวัดดัชนีความผิดปกติเป็นการประเมินความล้าภายหลังเวลาการทำงานของพนักงานในหนึ่งรอบการทำงาน เช่น หนึ่งกะ หรือ หนึ่งวัน เป็นต้น แบบสำรวจนี้จะเน้นความรู้สึกของผู้ปฏิบัติงานโดยทำการประเมินความรู้สึก 8 ด้าน ในความล้าแต่ละด้านผู้ถูกประเมินจะต้องตอบคำถามต่อไปนี้
1. ความล้าทั่วไป                ความเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นภายหลังการทำงานของท่านอยู่ที่ระดับใดเมื่อเริ่มจาก 0 คือ ไม่มีความล้าเลย ระดับความล้าเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 9 คือ ล้ามากที่สุด
2. ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากการทำงาน   ท่านคิดว่ามีโอกาสมากหรือไม่ที่จะได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน โดยมีความเสี่ยงในการทำงานสูงหรือไม่โดยเริ่มจาก 0 คือ ไม่มีความเสี่ยงเลย จนถึงระดับ 9 คือ มีความเสี่ยงสูงสุด
3. ระดับความสนใจต่องานที่ทำ ท่านคิดว่างานที่ทำอยู่เป็นงานที่น่าสนใจหรือไม่ และทำมีความอยากที่จะทำงานในหน้าที่นี้หรือไม่เริ่มจาก 0 คือ งานที่ทำนั้นน่าเบื่อ จนถึงระดับ 9 คือ น่าสนใจอยากทำงานในหน้าที่นี้มากที่สุด

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การประเมินโดยใช้ดัชนีความผิดปกติ



        กิตติ อินทรานนท์ (2538) ได้เสนอแบบสอบถามที่ออกแบบ เพื่อใช้สำหรับการสำรวจสุขภาพพนักงานและแบบสัมภาษณ์พนักงานเกี่ยวกับความล้าและสภาพของการทำงาน เพื่อนำมาใช้ประเมินปัญหาด้านการยศาสตร์ด้วยการคำนวณดัชนีความผิดปกติ (Abnormality Index, AI) (อินทรานนท์, 2538) (K. & Vanwonterghem, 1993)
        แบบประเมินโดยการคำนวณค่าดัชนีความผิดปกติใช้ในการสำรวจปัญหาเบื้องต้นและสามารถประเมินความรุนแรงของปัญหา ข้อดีของการประเมินด้วยการคำนวณค่าดัชนีความผิดปกติคือ ใช้ประเมินความล้าทั้งร่างกาย และทางด้านจิตใจ โดยใช้ความรู้สึกของพนักงาน แบบประเมินนี้สามารถใช้ได้สะดวกและรวดเร็ว สามารถใช้กับคนจำนวนมาก และใช้ได้กับลักษณะงานทุกประเภท (เบ้าทอง, 2551)

วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การประเมินโดยใช้แบบสอบถามมาตรฐานในการวิเคราะห์อาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกของ Nordic



        Nordic Council of Ministers (Kuorinka, et al., 1987) ได้พัฒนาแบบสอบถามมาตรฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์อาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูก (Standardized Nordic questionnaires for the analysis of musculoskeletal symptoms) เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาการผิดปกติในส่วนต่างๆของร่างกาย โดยอาจจะใช้วิธีการสัมภาษณ์ หรือให้ผู้ตอบแบบสอบถามตอบด้วยตนเองก็ได้ แบบสอบถามดังกล่าวพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกโดยใช้ภาษา Swedish และ Danish แล้วได้มีการแปลออกมาเป็นภาษาต่างๆทั่วโลก วัตถุประสงค์หลักของแบบสอบถามนี้คือ การใช้เป็นเครื่องมือในการกรองปัญหาด้านการยศาสตร์ที่เกี่ยวกับอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูก และใช้เป็นข้อมูลในการบริการด้านอาชีวอนามัย แบบสอบถามนี้ยังใช้เป็นการวัดผลลัพธ์ของการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกได้ การใช้แบบสอบถามนี้ในการค้นหาหรือการกรองปัญหาอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกอาจใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการทำงาน การออกแบบสถานีงาน และการออกแบบเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้งาน การใช้แบบสอบถามนี้ในเชิงอาชีวอนามัยอาจใช้ในการวิเคราะห์ความเครียดในการทำงาน การติดตามผลที่ได้จากการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นต้น
        การใช้แบบสอบถามนี้นิยมใช้ในการศึกษาแบบภาคตัดขวาง (cross-sectional study) สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ในการกรอกข้อมูลจะมีผลต่อผลลัพธ์ของข้อมูลที่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับคำถามและผู้ตอบจะต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเป็นอย่างดีจึงจะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
        แบบสอบถามนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆคือ
1. แบบสอบถามทั่วไป
        แบบสอบถามทั่วไปจะเป็นการสอบถามอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกในส่วนต่างๆของร่างกาย แบ่งเป็น 9 ส่วนได้แก่ คอ ไหล่ หลังส่วนบน หลังส่วนล่าง ข้อศอก ข้อมือ/มือ สะโพก เข่า และข้อเท้า/เท้า ซึ่งเป็นส่วนที่มักจะพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นทั้งแบบสะสมและแบบเฉียบพลัน โดยจะสอบถามอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วง 12 เดือน และ 7 วันที่ผ่านมา
2. แบบสอบถามเฉพาะส่วน
        แบบสอบถามเฉพาะส่วนจะเป็นแบบสอบถามที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลอาการผิดปกติในส่วนที่มักจะเกิดขึ้นมากที่สุด 2 ส่วน คือ (1) หลังส่วนล่าง และ (2) คอและไหล่ โดยจะมีคำถามที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับอาการผิดปกติในส่วนนั้นๆ โดยสอบถามอาการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในช่วง 12 เดือน และในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การประเมินโดยใช้แบบประเมินเพื่อสำรวจภาระงานของกล้ามเนื้อของ ISO 20646 (Annex D)


        การประเมินอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆของร่างกายที่ใช้ในปัจจุบันมีหลายแบบประเมินด้วยกัน แบบประเมินหนึ่งที่ใช้เป็นมาตรฐานสากล คือ แบบประเมิน ISO 20646 (Annex D) ซึ่งใช้ในการสำรวจภาระงานของกล้ามเนื้อของผู้ปฏิบัติงาน (ดูภาคผนวก)      การสำรวจภาระงานของกล้ามเนื้อเป็นการประเมินจากความรู้สึกของผู้ปฏิบัติงานว่ามีความรู้สึกเหนื่อย หรือเจ็บปวดกล้ามเนื้อระหว่างทำงาน หรือหลังเลิกงาน หรือไม่ ซึ่งผู้ถูกสัมภาษณ์จะต้องบ่งชี้ความรุนแรงของอาการโดยแบ่งคะแนนเป็น 5 ระดับ (0-4) ไม่รู้สึก (0) รู้สึกนิดหน่อย (1) รู้สึกปานกลาง (2) รู้สึกมาก (3) และรู้สึกมากเกินทนไหว (4) โดยจะประเมินแยกซีกของร่างกายเป็นด้านซ้ายและด้านขวา นอกจากนั้นในแบบสำรวจจะมีคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกพึงพอใจในสภาพการทำงาน ผลงานหรือประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานรวมถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงงานอีกด้วย ผลการประเมินจะทำให้ทราบความชุกในปัญหาของอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆของร่างกาย แบบประเมินเพื่อสำรวจภาระงานของกล้ามเนื้อ (Annex D) จะใช้ร่วมกับ Annex B และ C

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การประเมินความล้าของร่างกาย


        การประเมินความล้าของร่างกายใช้สำหรับการวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงสถานีงานให้มีความเหมาะสม หรือการปรับเปลี่ยนขั้นตอน วิธีการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้เกิดความล้าต่อร่างกายของผู้ปฏิบัติงานให้น้อยที่สุด การประเมินความล้าของร่างกายอาจจะทำการประเมินโดยการสอบถาม หรือสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอาการปวดเมื่อยหรืออาการผิดปกติกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal Disorder, MSD) ที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆของร่างกาย หรืออาจจะทำการวัดค่าสัญญาณไฟฟ้าของกล้ามเนื้อโดยการใช้เครื่องมือวัด EMG เป็นต้น นอกจากความล้าที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อและกระดูกแล้ว ความล้าของสายตาก็มักจะพบในผู้ปฏิบัติงานที่จำเป็นต้องใช้สายตาโดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง การประเมินความล้าจะทำให้สามารถนำผลการวิเคราะห์ที่ได้ไปปรับแก้ไขสถานีงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น