วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

สิ่งบ่งชี้ว่าองค์กรมีปัญหาการยศาสตร์



ในบางองค์กรผู้บริหารมักจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการผลิต คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อกระบวนการทางธุรกิจขององค์กร แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านการยศาสตร์เกี่ยวกับผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากมองไม่เห็นปัญหาเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน สิ่งบ่งชี้ว่าองค์กรเหล่านั้นมีปัญหาการยศาสตร์ (กรุงไกรวงศ์ & กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 2551) อาจจะสังเกตได้จากสิ่งต่างๆ ดังนี้
        (1) การประสบอันตรายของพนักงาน
        หากสถานที่ทำงานมีแนวโน้มของการเกิดอันตรายของพนักงานจากการทำงานสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบาดเจ็บจากการยกหรือเคลื่อนย้ายวัตถุ การบาดเจ็บจากการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ การบาดเจ็บจากการมีท่าทางการทำงานที่ฝืนธรรมชาติ เป็นต้น
        (2) การบาดเจ็บสะสมเรื้อรัง
        การที่พนักงานมีอาการปวดเมื่อยหรือบาดเจ็บสะสมเรื้อรังในส่วนต่างๆของร่างกาย ควรจะต้องมีการสำรวจและบันทึกเป็นระยะๆเพื่อวิเคราะห์ระดับความชุกของอาการปวดเจ็บ หรือปวดเมื่อยดังกล่าว และนำไปสู่การหาสาเหตุและปัจจัยที่เป็นต้นตอของการเกิดอาการเหล่านั้น
        (3) อัตราการขาดงานลาการเข้าออก
        ปัญหาการขาดงานและการลาออกจากงานส่วนหนึ่งเป็นเพราะพนักงานเกิดความไม่สะดวกสบายในระหว่างการปฏิบัติงาน เช่น การปวดเมื่อยร่างกาย ความยากลำบากในการทำงานสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้นต่างๆ ไม่เหมาะกับสภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้นจึงนำไปสู่การเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานต่างๆ และนำไปสู่การขาดงานบ่อยๆ และลาออกในที่สุด
        (4) การร้องเรียนของพนักงาน
        ในสภาพการทำงานบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน ตัวผู้ปฏิบัติงานเองอาจจะมีการแจ้ง หรือร้องเรียนให้กับหัวหน้างานได้รับทราบ เพื่อให้ทำการปรับสถานที่ทำงาน หรือสถานีงานให้มีความเหมาะสม ดังนั้นหากหัวหน้าหรือผู้บริหารให้ความสำคัญและตอบสนองต่อข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะจากพนักงานผู้ปฏิบัติงานก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
        (5) การปรับเปลี่ยนสถานีงานหรืออุปกรณ์โดยพนักงานเอง
        ในบางกรณีที่พนักงานที่ปฏิบัติงานพบว่าอุปกรณ์หรือสถานที่ทำงานอยู่ในสภาวะไม่เหมาะสมกับตนเอง หรือกับลักษณะงาน ผู้ปฏิบัติงานอาจจะมีการปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงสถานีงานหรืออุปกรณ์เหล่านั้นให้มีความเหมาะสมกับการทำงานมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้ไม้รองเก้าอี้หรือโต๊ะ เพื่อให้มีความสูงเหมาะสมกับร่างกาย การใช้ผ้าพันมือจับ เพื่อให้ไม่ลื่น หรือให้มือจับมีขนาดที่เหมาะสมกับขนาดของมือ เป็นต้น การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หรือสถานีงานในบางครั้งอาจจะเกิดจากการออกแบบสถานีงาน หรืออุปกรณ์มาไม่เหมาะสม แต่บางครั้งก็อาจจะเกิดจากการที่สถานีงานหรืออุปกรณ์ชำรุดสึกหรอ อย่างไรก็ตามเมื่อพบเห็นสภาพดังกล่าวมักจะแสดงให้เห็นว่าเกิดปัญหาด้านการยศาสตร์ขึ้นแล้ว
        (6) มีความผิดพลาดในการทำงาน
        ความผิดพลาดในการทำงานในที่นี้รวมตั้งแต่การผลิตสินค้าที่ผิดพลาด ความบกพร่อง หรืออุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น เทของหก ทำวัตถุหล่นพื้น ตกจากเก้าอี้ ลื่นล้ม (หรือเกือบล้ม) น้ำร้อนหกใส่ เป็นต้น ความผิดพลาดต่างๆเหล่านี้ บางครั้งเป็นสาเหตุมาจากปัญหาด้านการยศาสตร์ เช่น สภาพแสงสว่างไม่เพียงพอ สภาพพื้นไม่เหมาะสมขนาดโต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะสม เป็นต้น
        (7) ผลผลิตตกต่ำ
        เมื่อผู้ปฏิบัติงานทำงานซ้ำๆ โดยที่ไม่ได้ทำในสภาพท่าทางที่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดความเมื่อยล้าของร่างกายและอาจทำให้เกิดความเครียดจากการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตได้ นอกจากนี้ถ้ามีการออกแบบสถานีงานไม่เหมาะสม เช่น สถานีงานที่พนักงานต้องยื่นมือออกจากลำตัวมากเกินไป หรือต้องมีการยกมือขึ้นลง สูงหรือต่ำเกินไป ก็จะทำให้มีผลต่อผลผลิตด้วยเช่นกัน