วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การประเมินความเสี่ยงโดยใช้สมการ NIOSH

NIOSH (The National Institute for Occupational Safety and Health) เป็นหน่วยงานทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา ที่ทำหน้าที่หลักเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและจัดทำข้อเสนอแนะต่างๆในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน (Work-related injury and illness) NIOSH ยังทำการตรวจสอบอันตรายทางด้านต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำงาน ให้คำแนะนำในการออกข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เสนอแนะมาตรการใช้สารพิษและระดับของสารเคมีที่ปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเรียกว่า ค่าปริมาณขีดจำกัดของสารที่แนะนำ (Recommended Exposure Limits, RELs) นอกจากหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น NIOSH ยังเสนอวิธีการในการวิเคราะห์และประเมิน ปัจจัยเสี่ยงด้านการยศาสตร์ในสถานที่ทำงานที่มีลักษณะการทำงานที่ต้องมีการยกขนย้ายวัตถุด้ายแรงคน ซึ่งวิธีการดังกล่าวรู้จักกันในนามว่า สมการการยกของ NIOSH (NIOSH lifting equation)
NIOSH ได้เสนอสมการการยกครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1981 ต่อมา NIOSH ได้มีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงสมการดังกล่าวให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น และในปี ค.ศ. 1991 จึงได้เสนอสมการการยกที่มีการปรับปรุงใหม่ (Revised NIOSH lifting equation) ซึ่งสมการนี้ก็ได้มีการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบันนี้
สมการการยกของ NIOSH ใช้ในการประเมินสภาพการยกและเคลื่อนย้ายสิ่งของด้วยแรงกายของผู้ปฏิบัติงาน โดยพิจารณาความสามารถในการใช้แรงกล้ามเนื้อของมนุษย์รวมถึงความสำคัญของปัจจัยที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับงานยกนั้นๆ การประเมินโดยใช้สมการยกของ NIOSH จะใช้ประเมินได้ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัด ดังต่อไปนี้
1. ลักษณะการยก: ต้องเป็นการยกหรือขนย้ายด้วยมือทั้งสองข้าง ยกทางด้านหน้าของลำตัว มือทั้งสองข้างอยู่ในระดับเดียวกัน วัตถุสิ่งของที่จะเคลื่อนย้ายมีขนาดไม่กว้างมากเกินไปและมีการกระจายน้ำหนักไปยังมือทั้ง 2 ข้างเท่าๆกันสมการนี้ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการยกด้วยมือเพียงข้างเดียว การยกที่มีระยะเวลาทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน งานยกในท่าทางนั่งหรือคุกเข่า การยกในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัดคับแคบ งานยกสิ่งของที่ไม่มั่งคง งานยกในลักษณะที่มีการฉุดกระชาก การดึงหรือการลาก งานยกที่ใช้ความเร็วในการเคลื่อนไหวสูง การใช้รถเข็นหรือการขุดเจาะ
2. สภาพของสถานที่ปฏิบัติงาน: สภาพแวดล้อมในที่ทำงานควรอยู่ที่อุณหภูมิระหว่าง 19-27C ความชื้นระหว่าง 35-50% นอกจากนั้นสภาพของพื้นผิวที่ยืนทำงานจะต้องอยู่ในสภาพราบเรียบหรือยืนได้อย่างมั่นคง และผู้ปฏิบัติงานสวมใส่รองเท้าที่มีพื้นรองเท้าที่เหมาะสม ถ้าสภาพแวดล้อมในการทำงานอยู่นอกเหนือช่วงหรือลักษณะดังกล่าว อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บได้
ในการใช้สมการการยกนี้ถ้าลักษณะงานและสภาพของการทำงานไม่ได้อยู่ภายใต้สถานการณ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว อาจส่งผลให้การประมาณค่าอันตรายที่ได้ต่ำกว่าความเป็นจริงได้ ดังนั้นจึงต้องสำรวจให้แน่ใจก่อนที่จะประยุกต์ใช้สมการนี้ สมการการยกของ NIOSH จะทำการประเมินโดยพิจารณาตามหลักการที่ว่า น้ำหนักของวัตถุสิ่งของที่ทำการยก (Load weight) จะต้องมีค่าไม่เกินค่าความสามารถของกล้ามเนื้อในท่าทางที่เหมาะสมของร่างกายหรือขีดจำกัดของน้ำหนักที่แนะนำ (Recommended Weight Limit, RWL) โดยอัตราส่วนของน้ำหนักที่ยกกับขีดจำกัดของน้ำหนักที่แนะนำนี้เรียกว่า ดัชนีการยก (Lifting Index, LI) รายละเอียดของการคำนวณค่าต่างๆของสมการการยกของ NIOSH มี 3 ขั้นตอนหลักดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : การวัดค่าตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
การคำนวณตามสมการการยกของ NIOSH ต้องมีการวัดค่าตัวแปรต่างๆที่ต้องใช้ในสมการโดย ตัวแปรและวิธีการในการวัดแสดงในตาราง และรูป

ตารางแสดงตัวแปรที่ใช้ในสมการการยกของ NIOSH

ตัวแปร
คำเต็ม
ความหมาย (หน่วย)
L
Load weight
น้ำหนักจริงของวัตถุที่ยก (กก.)
H
Horizontal location
ระยะในแนวระนาบจากกึ่งกลางของผู้ยกหรือกึ่งกลางหลังถึงกึ่งกลางของวัตถุที่ถูกยกหรือวัดจากระยะในแนวระนาบบนพื้นจากจุดกึ่งกลางกระดูกข้อเท้า(ตาตุ่ม) ด้านใน ไปยังจุดกึ่งกลางข้อนิ้วมือที่จับยก (ซม.)
V
Vertical location
ระยะในแนวดิ่งจากมือถึงพื้น (ซม.)
D
Vertical travel distance
ระยะห่างในแนวตั้งฉากจากจุดที่ยกถึงตำแหน่งวัตถุ (ซม.)
A
Asymmetry angle
มุมของการเอี้ยวตัว (องศา)
F
Lifting frequency
ค่าเฉลี่ยของจำนวนครั้งของการยกใน 1 นาที (ครั้ง/นาที)
W
Work duration
ระยะเวลาทำงาน (ชม.)
C
Coupling classification
ลักษณะการจับยึด (ดี/พอใช้/ไม่ดี)


รูปแสดงตำแหน่งของวัตถุและมือเท้าของผู้ยกในแนวนอนและแนวดิ่ง
ที่มา : (สุดธิดา กรุงไกรวงศ์ , 2551)


รูปแสดงตำแหน่งของการหมุนเอี้ยวตัวในการจับยกวัตถุ
ที่มา : (สุดธิดา กรุงไกรวงศ์ , 2551)
ขั้นตอนที่ 2 : การคำนวณค่าขีดจำกัดของน้ำหนักที่แนะนำ
          ค่าขีดจำกัดของน้ำหนักที่แนะนำ (RWL) เป็นค่าน้ำหนักที่เหมาะสมที่จะยกหรือขนย้ายได้โดยไม่เกินขีดจำกัดในการรับน้ำหนักของกล้ามเนื้อหลัง โดยค่า RWL ที่ได้เปรียบเสมือนค่าน้ำหนักที่มีความใกล้เคียงกับสภาวะของผู้ปฏิบัติงานที่มีสุขภาพดีโดยทั่วไป ซึ่งสามารถยกขนย้ายได้อย่างปลอดภัยในช่วงเวลาการทำงานปกติคือ ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ค่า RWL ได้มาจากการคำนวณโดยใช้ สมการดังนี้
                      
                                  RWL = LC × HM x VM x DM x AM x FM x CM                   

โดย     LC = ค่าคงที่ของน้ำหนัก (กก.)
          HM = ตัวคูณปัจจัยระยะห่างจากศูนย์กลางของวัตถุที่ยกกับร่างกายของผู้ยก (ในแนวนอน)
          VM = ตัวคูณปัจจัยความสูงในแนวดิ่งของระยะจากมือของผู้ยกถึงพื้น
          DM = ตัวคูณปัจจัยระยะทางการยก (ระยะทางในแนวดิ่งจากจุดที่ยกไปยังจุดที่วางวัตถุ)
          FM = ตัวคูณปัจจัยความถี่ในการยก ซึ่งต้องพิจารณาระยะเวลาการทำงานยกร่วมด้วย
          AM = ตัวคูณปัจจัยมุมของการเอี้ยวตัว
          CM = ตัวคูณปัจจัยลักษณะหรือความถนัดในการจับยึดชิ้นงาน

          การหาค่าตัวแปรในสมการการยกของ NIOSH มีรายละเอียดที่แตกต่างกันระหว่างการคำนวณในระบบเมตริก (Metric) และระบบอเมริกัน (U.S. customary) ในหนังสือเล่มนี้จะอธิบายการคำนวณตามระบบเมตริกเป็นหลัก ดังนี้
          1. Load Constant (LC) เป็นค่าคงที่ของน้ำหนักโดยการคำนวณจะใช้เป็น 23 กิโลกรัม ซึ่งค่านี้เป็นค่าน้ำหนักที่สามารถยกได้อย่างปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป
          2. Horizontal Multiplier (HM) เป็นตัวคูณปัจจัยค่าระยะห่างจากศูนย์กลางของวัตถุที่ยกกับร่างกายของผู้ยก โดยระยะห่างดังกล่าวจะอยู่ในแนวระนาบหรือแนวนอน ค่านี้คำนวณมาจากสมการ

                                                              HM = 25/H             
                     
โดย     H = ระยะห่างจากจุดกึ่งกลางของวัตถุถึงกึ่งกลางของผู้ยก (ซม.)

          ค่า H (Horizontal location) หมายถึงระยะในแนวระนาบจากกึ่งกลางผู้ยกหรือกึ่งกลางหลังถึงกึ่งกลางวัตถุที่ถูกยก หรืออาจจะวัดจากระยะในแนวระนาบบนพื้นจากจุดกึ่งกลางกระดูกข้อเท้า (ตาตุ่ม) ด้านในไปยังจุดกึ่งกลางข้อนิ้วมือที่จับยกวัตถุสิ่งของนั้น (จุดศูนย์กลางของน้ำหนัก) ค่า H กำหนดให้มีค่าน้อยที่สุดคือ 25 ซม. (ในกรณีที่วัดแล้วค่า H ที่ได้มีค่าน้อยกว่า 25 ซม. จะให้ปรับเป็น 25 ซม.) และค่า H ที่มากที่สุดจะไม่เกิน 63 ซม. ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าเกินระยะดังกล่าวจะไม่สามารถยกของขึ้นลงได้อย่างสมดุล การประมาณค่า H มาจากสมการ

                                                ในกรณีที่ V ≥ 25 ซม. ใช้ H = 20 + W/2                     
                                                ในกรณีที่ V < 25 ซม. ใช้ H = 25 + W/2     
                
โดย     V = ระยะในแนวดิ่งจากมือถึงพื้น (ซม.)
          W = ความกว้างของวัตถุที่ยก (ซม.)

          3. Vertical Multiplier (VM) เป็นค่าตัวคูณปัจจัยด้านความสูงในแนวดิ่งโดยค่า VM จะมี 2 ค่าคือ ที่จุดเริ่มต้น และจุดสุดท้ายของการยกและค่า VM จะมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 การคำนวณค่า VM จะคำนวณจากสมการ
                                                           
                                                          VM = 1-(0.003|V-75|)  
                            
โดย     V = ระยะในแนวดิ่งจากมือถึงพื้น (ซม.)

          ค่า V (Vertical location) หมายถึงระยะห่างในแนวตั้งฉาก (แนวดิ่ง) จากมือที่จับยกวัตถุถึงพื้น โดยจะวัดระยะในแนวตั้งฉากจากพื้นไปยังจุดกึ่งกลางระหว่างมือ (ข้อนิ้วกลาง) ที่จับยกวัตถุ ค่า V จะมีค่าต่ำสุดคือ ศูนย์ นั่นหมายถึง วัตถุตั้งอยู่บนพื้น และมีค่าสูงสุดไม่เกิน 175 ซม. กรณีที่ ค่า V เกิน 175 ซม.จะให้ค่า VM เป็นศูนย์นั่นคือไม่สามารถยกสิ่งของได้

          4. Distance Multiplier (DM) เป็นค่าตัวคูณปัจจัยด้านระยะทางการยกนั่นคือ ระยะทางในแนวดิ่งจากจุดที่ยกไปยังจุดที่วางวัตถุ ค่า DM สามารถคำนวณได้จากสมการที่ 13.6 ค่า DM มีค่าระหว่าง 0 ถึง 1

                                                          DM = 0.82 + (4.5/D)                
                
โดย     D = ระยะห่างในแนวตั้งฉากจากจุดที่ยกถึงตำแหน่งที่วางวัตถุ (ซม.)

          ค่า D (Vertical travel distance) หมายถึงระยะห่างในแนวตั้งฉากจากจุดที่ยกถึงตำแหน่งที่วางวัตถุ โดยค่า D สามารถคำนวณได้จากผลลบของค่า V ณ จุดเริ่มต้นที่จับยกวัตถุ และค่า V ณ จุดที่วางวัตถุในการคำนวณจะใช้ค่า D ที่อยู่ในช่วง 25-175 ซม. กรณีที่น้อยกว่า 25 ซม. ให้ใช้ค่า D เป็น 25 ซม. และถ้ามากกว่า 175 ซม. ค่า DM จะมีค่าเป็นศูนย์ ซึ่งทำให้ค่า RWL มีค่าเป็นศูนย์ด้วยนั่นคือไม่สามารถเคลื่อนย้ายวัตถุนี้ได้ การประมาณค่าของค่า DM สามารถเปิดค่าได้จากตาราง

                                                     ตารางแสดงค่า DM
D (ซม.)
DM
≤ 25
1.00
40
0.93
55
0.90
70
0.88
85
0.87
100
0.87
115
0.86
130
0.86
145
0.85
160
0.85
175
0.85
≥175
0.00
5. Asymmetry Multiplier (AM) เป็นค่าตัวคูณปัจจัยด้านมุมของการเอี้ยวตัว สามารถคำนวณได้จากสมการ
                                                           AM = 1-(0.0032A)                          
โดย     A = มุมของการเอี้ยวตัว (องศา)
          ค่า A (Asymmetry angle) เป็นค่ามุมของการบิดเอี้ยวตัวของผู้ยกซึ่งถือว่าเป็นท่าทางที่มีความเสี่ยงต่ออาการปวดเมื่อย ดังนั้นจึงเป็นอิริยาบถที่ควรหลีกเลี่ยง ค่ามุม A วัดจากเส้นในแนวนอนที่ลากมาชนกันของเส้นที่ลากมาจากจุดกึ่งกลางระหว่างกระดูกข้อเท้า (ตาตุ่ม) ด้านใน และเส้นที่ลากมาจากจุดกึ่งกลางมือ (ข้อนิ้วกลาง) ที่จับยกวัตถุ ถ้าเส้นสองเส้นนี้ทับกันถือว่าเป็นท่าทางที่เป็นธรรมชาติ แขนอยู่ชิดด้านหน้าของลำตัวโดยไม่มีการบิดเอี้ยวลำตัว หัวไหล่ และขา ค่า A จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 135 ถ้าค่ามากกว่า 135 จะให้ค่า AM เป็นศูนย์ ซึ่งผลให้ RWL เป็นศูนย์นั่นคือ ไม่สามารถยกหรือเคลื่อนย้ายวัตถุได้ ค่า AM สามารถหาค่าโดยการเปิดจากตาราง

     ตารางแสดง ค่า AM
A (องศา)
AM
0
1.00
15
0.95
30
0.90
45
0.86
60
0.81
75
0.76
90
0.71
105
0.66
120
0.62
135
0.57
>135
0.00
          6. Frequency Multiplier (FM) เป็นค่าตัวคูณปัจจัยความถี่ในการยก ค่า FM จะหามาจากค่า F (Lifting frequency) ซึ่งคือ ค่าเฉลี่ยของจำนวนครั้งในการยกวัตถุในเวลา 1 นาที มีหน่วยเป็น ครั้ง/นาที นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาถึงช่วงเวลาในการทำงาน (Work duration) และระยะในแนวดิ่งจากมือถึงพื้น (V) โดยค่า F จะมีค่าไม่เกิน 15 ครั้ง/นาที ถ้า F มากกว่า 15 ครั้ง/นาที จะได้ค่า FM เป็นศูนย์ ส่วนค่า V จะเป็น 2ระดับคือ (1) น้อยกว่า 75 ซม. และ (2) มากกว่าหรือเท่ากับ 75 ซม. สำหรับค่าช่วงเวลาในการทำงานจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ (1) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ชม. (2) มากกว่า 1 ชม. แต่ไม่เกิน 2 ชม. (3) มากกว่า 2 ชม. แต่ไม่เกิน 8 ชม. จะเห็นว่าในกรณีที่ผู้ยกต้องทำงานมากกว่า 8 ชม. จะไม่สามารถใช้สมการการยกของ NIOSH ในการประเมินความเสี่ยงได้ ค่า FM สามารถเปิดได้จากตาราง
     ตารางแสดงค่า FM
ความถี่ (F)
(ครั้ง/นาที)
ระยะเวลาทำงาน (work duration, W)
W ≤ 1 ชม.
1 ชม. < W ≤ 2 ชม.
2 ชม. < W ≤ 8 ชม.
V < 75 ซม.
V ≥ 75 ซม.
V < 75 ซม.
V ≥ 75 ซม.
V < 75 ซม.
V ≥ 75 ซม.
≤0.2
1.00
1.00
0.95
0.95
0.85
0.85
0.5
0.97
0.97
0.92
0.92
0.81
0.81
1
0.94
0.94
0.88
0.88
0.75
0.75
2
0.91
0.91
0.84
0.84
0.65
0.65
3
0.88
0.88
0.79
0.79
0.55
0.55
4
0.84
0.84
0.72
0.72
0.45
0.45
5
0.80
0.80
0.60
0.60
0.35
0.35
6
0.75
0.75
0.50
0.50
0.27
0.27
7
0.70
0.70
0.42
0.42
0.22
0.22
8
0.60
0.60
0.35
0.35
0.18
0.18
9
0.52
0.52
0.30
0.30
0.00
0.15
10
0.45
0.45
0.26
0.26
0.00
0.13
11
0.41
0.41
0.00
0.23
0.00
0.00
12
0.37
0.37
0.00
0.21
0.00
0.00
13
0.00
0.34
0.00
0.00
0.00
0.00
14
0.00
0.31
0.00
0.00
0.00
0.00
15
0.00
0.28
0.00
0.00
0.00
0.00
>15
0.00
0.00
0.00
0.00
0.00
0.00
หมายเหตุ : ค่าความถี่ (F) < 0.2 ครั้ง/นาที หมายถึงความถี่ในการยกน้อยกว่า 1 ครั้งใน 5 นาที
          7. Coupling Multiplier (CM) เป็นปัจจัยตัวคูณด้านความถนัดหรือลักษณะในการจับยึด มีค่าระหว่าง 0.9 ถึง 1 โดยประเมินจากวัตถุที่ยกว่ามีการออกแบบให้ง่ายหรือยากต่อการยก ซึ่งลักษณะการจับยกที่ดีจะช่วยลดการออกแรงในการจับยกวัตถุนั้นๆ ซึ่งจะทำให้ค่า RWL สูงขึ้นด้วย ลักษณะการจับยก (Coupling classification, C) แบ่งเป็น 3 ระดับคือ ดี พอใช้ และไม่ดี โดยมีหลักการในการพิจารณา ดังรูป ส่วนการหาค่า CM สามารถเปิดได้จากตาราง

 รูปแสดงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาลักษณะการจับยก

ตารางแสดงค่า CM
ลักษณะการจับยก
CM
V < 75 ซม.
V ≥ 75 ซม.
ระดับดี
1.00
1.00
ระดับปานกลาง
0.95
1.00
ระดับไม่ดี
0.90
0.90
ขั้นตอนที่ 3 : การคำนวณค่าดัชนีการยก (Lifting Index, LI)
          ดัชนีการยก (LI) เป็นดัชนีชี้วัดที่ใช้บ่งบอกถึงระดับความเครียดของการยกจากสภาพงานยกที่นำมาวิเคราะห์ ค่าดัชนีการยกคำนวณได้จากสมการ

                                                           LI = L/RWL
                                     
โดย     L = น้ำหนักจริงของวัตถุที่ยก (กก.)
          RWL = ค่าขีดจำกัดของน้ำหนักที่แนะนำที่คำนวณได้จากขั้นตอนที่แล้ว

ขั้นตอนที่ 4 : การวิเคราะห์ผลการประเมิน
          ค่าที่คำนวณได้จากสมการจะใช้เป็นแนวทางในการประเมินความเสี่ยงไม่ใช่ระบุถึงอันตราย ดังนั้นเมื่อทำการคำนวณค่าต่างๆในสมการการยกของ NIOSH แล้วจะสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ โดยมีหลักการดังนี้
          1. วิเคราะห์ค่าดัชนีของการยก (LI)
ค่า LI เป็นค่าที่มาจากค่าน้ำหนักจริงของวัตถุที่ยก (L) หารด้วยค่าขีดจำกัดของน้ำหนักที่แนะนำ (RWL) ค่าน้อยกว่า 1 หมายความว่า ค่าน้ำหนักของวัตถุที่ยกมีค่าน้อยกว่าค่าขีดจำกัดของน้ำหนักที่แนะนำ ดังนั้นแสดงว่าผู้ยกมีความเสี่ยงน้อย ในขณะที่ ถ้าค่า LI มีค่ามากกว่า 1 หมายความว่า ค่าน้ำหนักของวัตถุที่ยกมีค่ามากกว่าค่าขีดจำกัดของน้ำหนักที่เหมาะสมในการยก (ค่า LI ยิ่งมากแสดงว่ามีความเสี่ยงมาก) ดังนั้นจึงควรต้องแก้ไข โดยวิธีการปรับปรุงอย่างง่ายคือ การลดค่าน้ำหนักของวัตถุที่ยก (L) เพื่อให้มีค่าเหมาะสมกับค่าขีดจำกัดของน้ำหนักที่แนะนำ (RWL) อย่างไรก็ตามในบางกรณีไม่สามารถปรับลดค่า L ได้เนื่องจากอาจจะเป็นขนาดหรือน้ำหนักที่เฉพาะเจาะจงไว้แล้ว เช่น ขนาดบรรจุของสินค้า ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงโดยวิเคราะห์ค่า RWL ต่อไป

          2. การวิเคราะห์ค่าขีดจำกัดของน้ำหนักที่แนะนำ (RWL)
          ค่า RWL เป็นค่าที่ได้มาจากการคำนวณค่าน้ำหนักที่สามารถยกได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เกินขีดจำกัดในการรับน้ำหนักของหลัง ซึ่งคาดว่าผู้ยกทั่วไปที่มีสุขภาพดีจะสามารถขนย้ายได้อย่างปลอดภัยในช่วงเวลาทำงาน (ไม่เกิน 8 ชั่วโมง) โดย NIOSH แนะนำไว้ว่า ค่าน้ำหนักนี้ (LC) มีค่า 23 กิโลกรัม ซึ่งในการคำนวณค่า RWL จะนำค่า LC มาคูณกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการยก นั่นคือ HM, VM, DM, AM, FM และ CM ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะมีค่าไม่เกิน 1.00 นั่นคือสภาวะที่ดีที่สุดของการยก (ของแต่ละปัจจัย) ในทางกลับกันค่าปัจจัยเหล่านี้จะมีค่าน้อยลง เมื่อมีสภาวะการยกที่ไม่ดี ดังนั้น เมื่อนำค่าปัจจัยที่ดีที่สุดคือ 1.00 ไปคูณกับค่า LC จะทำให้ค่า RWL มีค่าเป็น 23 กิโลกรัม นั่นหมายถึงผู้ยกที่มีสภาวะการยกที่ดีจะทำให้สามารถยกของที่มีขนาดน้ำหนัก 23 กิโลกรัมได้โดยปลอดภัย (ซึ่งจะได้ค่า ดัชนีการยกเป็น 1.00) ในขณะที่ถ้าค่าปัจจัยมีค่าน้อยเมื่อนำไปคูณกับค่า LC จะทำให้ได้ RWL ที่ต่ำลง แสดงว่าผู้ยกจะสามารถที่จะยกน้ำหนักที่น้อยกว่า 23 กิโลกรัม ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการยกลดลง จะเห็นได้จากสมการของการหาค่าดัชนีการยก (LI) ถ้าค่า RWL ยิ่งน้อยลงจะทำให้ค่า LI ยิ่งมีค่าสูงขึ้นนั่นหมายถึงผู้ยกมีความเสี่ยงในการยกมากขึ้น ดังนั้นจึงควรทำการปรับปรุงเพื่อปรับสภาวะการยกเพื่อให้มีค่าปัจจัยต่างๆเข้าใกล้ 1.00 (สภาวะที่ดีที่สุด) โดยทำการปรับปรุง ดังนี้

          (1) ค่า HM
          ในกรณีที่ค่า HM มีค่าน้อยมาจากการที่ผู้ยกมีระยะห่างจากศูนย์กลางระหว่างวัตถุและร่างกายมาก นั่นคือ ผู้ยกจับถือวัตถุที่ยกห่างจากลำตัวมากเกินไป ดังนั้นจึงควรปรับให้ผู้ยกมีท่าทางในการยกที่จับยึดวัตถุอยู่ชิดลำตัว หรือขจัดสิ่งกีดขวางที่มีในแนวนอน หรือลดขนาดของวัตถุที่จะต้องยกหรือขนย้าย

          (2) ค่า VM
          การคำนวณค่า VM มาจากระยะห่างในแนวดิ่งจากมือของผู้ยกถึงพื้น (V) โดยระยะที่เหมาะสมที่จะทำให้ได้ค่า VM เป็น 1.00 คือ ระยะความสูงของการยกที่ 75 ซม. ดังนั้นการที่ผู้ยกเคลื่อนย้ายวัตถุในระดับที่สูงกว่าหรือต่ำกว่า 75 ซม. ก็จะทำให้ค่า VM มีค่าต่ำลง ดังนั้นในการปรับปรุงจะต้องปรับระดับความสูงของการยกให้เข้าใกล้ค่า 75 ซม. มากที่สุด ซึ่งในการยกวัตถุโดยทั่วไปควรพยายามหลีกเลี่ยงการยกขนย้ายในระดับต่ำใกล้พื้นหรือสูงเกินระดับหัวไหล่

          (3) ค่า DM
          การคำนวณค่า DM มาจากระยะทางในแนวดิ่งจากจุดที่ยกไปยังจุดที่วาง (D) ซึ่งสามารถคำนวณได้จากผลต่างระหว่าง ค่า V ณ จุดเริ่มต้น (V1) กับค่า V ณ จุดที่วางวัตถุ (V2) ระยะ D ที่ดีที่สุดควรมีค่า ≤ 25 ซม. ดังนั้นจึงควรปรับระดับความแตกต่างของการยกจากจุดเริ่มต้นไปถึงจุดปลายทางให้ไม่เกิน 25 ซม.

          (4) ค่า AM
          ค่า AM คำนวณมาจากมุมที่มีการบิดหรือเอี้ยวตัวในการยก (A) โดยดูจากมุมของเส้นในแนวนอนที่ลากมาชนกันของเส้นที่ลากมาจากจุดกึ่งกลางระหว่างกระดูกข้อเท้า (ตาตุ่ม) ด้านใน และเส้นที่ลากมาจากจุดกึ่งกลางมือ (ข้อนิ้วกลาง) ดังรูป ซึ่งถ้าเส้นสองเส้นนี้ทับกันจะได้ค่ามุม A เป็นศูนย์นั่นคือ เป็นสภาวะการยกที่ดีที่สุด ดังนั้นในการปรับปรุงควรให้ผู้ยกมีท่าทางในการเอี้ยวตัวน้อยที่สุด โดยให้แนวเส้นจุดเริ่มต้นจับยกวัตถุอยู่ใกล้แนวเส้นของจุดที่วางวัตถุเพื่อลดมุมของการบิดเอี้ยวตัว หรือเลื่อนให้จุดเริ่มต้นจับยกวัตถุอยู่ห่างจากจุดที่วางวัตถุ เพื่อให้ผู้ยกต้องก้าวเท้าไปยังที่วางวัตถุแทนการบิดเอี้ยวตัว


รูปแสดงมุมการบิดเอี้ยวตัว
ที่มา : (สุดธิดา กรุงไกรวงศ์ , 2551)
          (5) ค่า FM
          ค่า FM ได้มาจากการพิจารณาความถี่ในการยกวัตถุ (F) โดยค่า FM จะแปรผกผันกับค่า F และค่าระยะเวลาที่ผู้ยกต้องรับภาระงานยกนั้น (W) นอกจากนั้นค่า FM ยังเกี่ยวข้องกับ ค่า V ด้วย ดังนั้นในกรณีที่ค่า FM มีค่าน้อยควรปรับปรุงด้วยการลดอัตราความถี่ในการยกหรือขนย้ายวัตถุ หรือลดช่วงระยะเวลาที่ต้องยกขนย้ายวัตถุ หรือเพิ่มระยะเวลาพักให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ยกคลายความเหนื่อยล้าจากการยก

          (6) ค่า CM
          ค่า CM ได้มาจากการประเมินลักษณะการจับยึดวัตถุ ดังนั้นถ้า CV มีค่าน้อยควรปรับปรุงด้วยการปรับลักษณะการจับถือวัตถุโดยจัดให้มีหีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่มีหูหิ้ว หรือมีที่จับยึดที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้จับถือได้กระชับและง่ายสะดวกต่อการยก