วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กรณีตัวอย่างการใช้การประเมินด้านการยศาสตร์เพื่อการปรับปรุงงาน

1. แนวคิดของการปรับปรุงงาน

การปรับปรุงงาน (Work  improvement) หมายถึงการพิจารณาปัจจัยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เพื่อทำให้ การทำงานของคนมีความสะดวก สบาย ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป ผลลัพธ์ในการปรับปรุงงาน จึงสามารถกล่าวอ้างถึงดัชนีชี้วัดในในด้านต่อไปนี้ เช่น ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือการเกิดโรคจากการทำงานลดลง (เป็นผลต่อเนื่องมาจากการลดความล้า และความเครียดจากการทำงาน) จำนวนอุบัติเหตุในสถานที่ทำงานลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสถานประกอบการลดลง อัตราผลิตภาพ (Productivity)สูงขึ้น ผู้ปฏิบัติงานมีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานหรือมีความสุขมากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ การปรับปรุงงานสามารถประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ ได้มากมาย โดยอาจเป็นเทคนิคทางการยศาสตร์ เทคนิคทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการ (IE techniques) อื่นๆ เช่น ระบบลีน (LEAN) เทคนิคห้าดับเบิ้ลยูกับหนึ่งเอ็ช (5W&1H Analysis: who what where when why & how)  เทคนิคการตอบคำถาม “ทำไม” (Why-why analysis) เทคนิควงจรคุณภาพ (Q.C. Circle) เทคนิคเครื่องมือคุณภาพ 7 อย่าง (7Q.C. Tools) เทคนิคความสูญเสีย 7 ประการ (7 Wastes) เป็นต้น ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะพบว่าจำเป็นที่จะต้องมีการใช้หลายเทคนิคผสมผสานกันเพื่อให้สามารถลดปัญหาที่เกิดขึ้นและทำให้การปรับปรุงงานเกิดประโยชน์สูงสุด
การลดปัญหาต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของความไม่สะดวกสบายในการทำงาน หรือ เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในสถานที่ทำงาน ไม่ว่าเป็นการบาดเจ็บกะทันหัน (อุบัติเหตุ) หรือการบาดเจ็บสะสม ผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาสู่หน่วยงานและตัวผู้ปฏิบัติงานเองนั้น มีมากมายหลายประการ ดังนี้
·       ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากการบาดเจ็บ หรือ เจ็บป่วย
·       เพิ่มกำไรให้กับหน่วยงานได้ เนื่องจากความสามารถในการเพิ่มผลผลิตสูงขึ้นโดยพนักงานที่ไม่มีการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน
·       ลดความสูญเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าชดเชย หรือค่าประกันต่างๆ
·       เพิ่มศักยภาพ และเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้
·       ผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาพกายและจิตที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
·       สังคมในสถานที่ทำงานมีความสุข ส่งผลต่อการพัฒนาสังคมในวงกว้างยิ่งขึ้น

2. การศึกษาพฤติกรรมและท่าทางการใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์

ปัจจุบันนักศึกษาทุกระดับชั้นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ นิยมใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลาย การใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ใช้งาน แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของผู้ใช้คอมพิวเตอร์มากเช่นกัน โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ ซึ่งจากการศึกษารายงานการวิจัยพบว่า การใช้คอมพิวเตอร์ที่มากขึ้นของนักศึกษามีความเชื่อมโยงกับอัตราการเพิ่มขึ้นของอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (Jacob et al. 2009) ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ลักษณะพฤติกรรมและท่าทางการใช้งานที่ไม่เหมาะสม แสงสว่างไม่เพียงพอ ระยะห่างจากสายตาถึงจอภาพคอมพิวเตอร์ใกล้เกินไป และระยะเวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์แต่ละครั้งนานเกินไป ในงานวิจัยของพันธุ์เทพ นกแก้วและนิศานาถ พัสดุสาร (2555) จึงมุ่งเน้นที่จะศึกษาถึงความเสี่ยงของท่าทางการใช้คอมพิวเตอร์ และเสนอแนะแนวทางการใช้คอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องตามหลักการทางการยศาสตร์ โดยทำการประเมินความเสี่ยงของท่าทางการใช้คอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปทำการวิเคราะห์ เพื่อการเสนอแนะและปรับปรุงวิธีการใช้คอมพิวเตอร์ให้ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ ในงานวิจัยนี้ได้ทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จำนวน 316 คน  พฤติกรรมการใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ของนักศึกษาได้มีการรวบรวมโดยการใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ในส่วนของท่าทางการใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ของนักศึกษาได้มีการประเมินโดยวิธีการประเมินร่างกายส่วนบน (RULA) และวิธีการทางชีวกลศาสตร์  ผลของการศึกษาครั้งนี้พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้งานโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ในช่วงเวลากลางคืน (92.4%) มีการนำแผ่นรองเมาส์พักข้อมือและแป้นพิมพ์ต่อพ่วงภายนอกมาใช้ในระดับปานกลาง (40.8% และ 33.5% ตามลำดับ) มือของนักศึกษามีการวางในตำแหน่งและท่าทางที่เหมาะสม (มากกว่าร้อยละ 80) มีการใช้งานโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังพบว่าประมาณ 25% ของนักศึกษา มีพฤติกรรมการใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ที่ไม่ดี และมากกว่า 80% ของนักศึกษา ประสบกับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและโครงกระดูกจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ นักศึกษาส่วนใหญ่มีปัญหาบริเวณคอและหลังส่วนเอว อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของอาการปวดอยู่ในระดับต่ำ

          ผลจากการประเมินด้วยวิธีการ RULA แสดงให้เห็นว่า ท่าทางของนักศึกษามีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับผลจากการวิเคราะห์โดยใช้วิธีการทางชีวกลศาสตร์  หลังจากการประเมินผลพฤติกรรมและท่าทาง ได้นำ 3 แนวทาง คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการยศาสตร์, การสาธิตโปรแกรมสำหรับการเตือน, และการให้คำแนะนำรายบุคคล มาแนะนำแก่นักศึกษาที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง พบว่า แนวทางการให้ความรู้ มีความพึงพอใจสูงสุดจากความคิดเห็นของนักศึกษาที่ได้รับการแนะนำ

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการใช้งานโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ซึ่งมีขนาดจอภาพระหว่าง 14-15 นิ้ว คิดเป็นร้อยละ 69.9 ในขณะนั่งใช้งานคอมพิวเตอร์ทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานมักจะประสบกับอาการผิดปกติเกี่ยวกับตาคือ ปวดตา/แสบตา จำนวน 158 คน คิดเป็นร้อยละ 50.0  ส่วนใหญ่ไม่มีที่พักเท้า คิดเป็นร้อยละ 86.1 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เมื่อใช้เมาส์จะไม่มีการใช้ที่รองข้อมือ คิดเป็นร้อยละ 58.5 และมีเพียงร้อยละ 13.9 ที่มีการใช้ที่รองข้อมือทุกครั้งหรือค่อนข้างบ่อย  มีการใช้งานโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์สูงกว่าคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ร้อยละ 43.7 กลุ่มตัวอย่างมีการใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์เพื่อความบันเทิง สืบค้นข้อมูล พิมพ์เอกสาร ร้อยละ 91.1, 79.7, 56.6 และมีร้อยละ 5.4 ที่ใช้งานประเภทอื่นๆ อาทิ ใช้ในการเขียนโปรแกรม เป็นต้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ประสบปัญหาทางด้านสายตา กลุ่มตัวอย่างที่ประสบปัญหาทางด้านสายตา มีเพียงร้อยละ 31.0 ที่มีสายตาสั้น ร้อยละ 4.8 มีสายตาเอียง และมีร้อยละ 6.6 ที่มีสายตาทั้งสั้นและเอียง

กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องในระดับปานกลาง กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการวางมือเมื่อมองจากด้านข้างขณะใช้เมาส์ที่ถูกต้อง ร้อยละ 82.3 และมีพฤติกรรมการวางมือเมื่อมองจากด้านบนขณะใช้เมาส์ที่ถูกต้อง ร้อยละ 80.1 มีการวางมือเมื่อมองจากด้านข้างขณะใช้แป้นพิมพ์ที่ถูกต้อง ร้อยละ 48.1, มีลักษณะลำตัวในขณะนั่งในการใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ในการทำงานที่ถูกต้อง ร้อยละ 17.1 กลุ่มตัวอย่างที่เคยมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อของร่างกายขณะใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ โดยมักมีอาการปวดเมื่อยบริเวณคอ ร้อยละ 68.7 หลังส่วนล่าง ร้อยละ 52.2  ไหล่ ร้อยละ 45.6 และ ข้อมือ ร้อยละ 41.8 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 43.4 สามารถทำแบบทดสอบความรู้ด้านการยศาสตร์ในระดับปานกลาง
จากการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย 30 คน โดยคัดกรองจากกลุ่มตัวอย่าง ที่มีระดับคะแนนต่ำสุดของคะแนนรวมที่ได้จากการตอบแบบสอบถามพฤติกรรมและท่าทางเกี่ยวกับการใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์และแบบทดสอบความรู้ทางการยศาสตร์ การคัดเลือกจะเป็นแบบอาสาสมัคร กลุ่มเป้าหมายจะถูกวิเคราะห์และประเมินผล ท่าทางการทำงานตามวิธี RULA โดยใช้แบบฟอร์ม RULA สำหรับการบันทึกผลคะแนน และทำตามขั้นตอนการประเมิน โดยค่ามุมที่วัดได้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Kinovea กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ มีผลประเมิน RULA อยู่ในระดับ 3 คิดเป็นร้อยละ 63.3 แสดงว่า ลักษณะท่านั่งในการใช้งานโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์นั้นเริ่มเป็นปัญหาควรทำการศึกษาเพิ่มเติมและรีบดำเนินการปรับปรุงลักษณะงาน

การคำนวณหาค่าแรงกดที่กระทำตรงบริเวณหลังส่วนล่าง โดยวิธีการวิเคราะห์ทางชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) ถ่ายภาพวีดีโอบันทึกท่าทางในขณะใช้งานโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ของกลุ่มเป้าหมาย 30 คน โดยใช้กล้องดิจิตอลในการบันทึก ซึ่งบันทึกภาพ 2 ด้าน คือ ด้านซ้ายและด้านขวา วัดขนาดสัดส่วนร่างกายของกลุ่มเป้าหมาย โดยวัด 5 สัดส่วน คือ ระยะจากปลายนิ้วถึงข้อมือ ระยะข้อศอกถึงข้อมือ ระยะข้อศอกถึงหัวไหล ความสูงยืนระดับไหล่ โดยอ้างอิงการวัดสัดส่วนของร่างกายของอาจารย์กิตติ อินทรานนท์ จากนั้นนำวีดีโอบันทึกท่าทางในขณะใช้งานโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ของกลุ่มเป้าหมาย มาวัดค่ามุมต่างๆของท่าทางโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Kinovea โดยมุมที่วัด ประกอบด้วย 5 มุม  มุมของมือวัดเทียบกับแนวระนาบ (θ1) มุมของแขนส่วนล่างวัดเทียบกับแนวระนาบ (θ2) มุมของแขนส่วนบนวัดเทียบกับแนวระนาบ (θ3) และมุมของลำตัววัดเทียบกับแนวระนาบ (θ4) นำข้อมูลขนาดสัดส่วน และค่าของมุมที่วัดได้ มาทำการคำนวณหาค่าแรงกดที่กระทำตรงบริเวณหลังส่วนล่างตามวิธีการวิเคราะห์ทางชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) โดยอาศัยโปรแกรม Microsoft Excel กลุ่มเป้าหมาย มีค่าแรงกดที่กระทำตรงบริเวณหลังส่วนล่างสูงสุดเท่ากับ 2350.21 นิวตัน ซึ่งมีค่าน้อยกว่า 3400 นิวตัน แสดงว่า ลักษณะท่านั่งของกลุ่มเป้าหมายก่อให้เกิดแรงกดที่กระทำตรงบริเวณหลังส่วนล่างอยู่ในระดับที่ปลอดภัย สามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่ก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยรุนแรง


รูปที่แสดงการวัดค่ามุมต่างๆของท่าทางโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Kinovea

ถึงแม้พบว่าผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการยศาสตร์จะไม่อยู่ในระดับรุนแรง แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงระยะเวลาในการใช้งานพบว่านักศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายยังคงมีความเสี่ยงในการใช้งานคอมพิวเตอร์ และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในงานวิจัยนี้จึงได้มีการเสนอแนะแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางการใช้คอมพิวเตอร์แก่กลุ่มเป้าหมายโดยใช้ 3 แนวทาง ดังนี้

1.       การให้ความรู้ (Education) ให้ความรู้เรื่องท่านั่งใช้คอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ โดยเสนอในแบบของวีดีโอ ดังแสดงในรูป พร้อมประกอบการบรรยาย ซึ่งสามารถค้นหาวิดีโอได้ที่ www.youtube.com นอกจากนั้นยังได้แจกเอกสารให้ความรู้เรื่อง การใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ถูกสุขลักษณะ โดยกล่าวถึงลักษณะท่านั่ง สถานีงานที่เหมาะสมแก่การทำงาน ข้อปฏิบัติเพื่อช่วยปรับท่านั่งปฏิบัติงานกับเครื่องโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ และวิธีปฏิบัติงานกับเครื่องโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายไว้สำหรับอ่านเพิ่มเติม


รูปแสดงวีดีโอแสดงท่านั่งใช้คอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์
ที่มา: (www.youtube.com, 2013)

           2.       การใช้ตัวเตือน (Reminder) โดยการแนะนำโปรแกรมเตือนเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้คอมพิวเตอร์ มีด้วยกัน 2 โปรแกรม ดังนี้
(1)                โปรแกรม Eyes Relax หน้าต่างของโปรแกรม เป็นโปรแกรมประเภท Freeware ลักษณะการทำงานของโปรแกรมคือ จะเตือนให้ผู้ใช้พักสายตาและหยุดใช้งานจากหน้าจอเป็นระยะๆ ตามการตั้งค่า โดยสามารถตั้งค่าการเตือนเบื้องต้นในลักษณะต่างได้ เช่น Breaks สามารถตั้งค่าเวลาในการใช้งานสำหรับเตือนให้พักสายตา โดยโปรแกรมจะเริ่มนับเวลาถอยหลัง และสามารถตั้งช่วงเวลาพักสายตาได้ โดยสามารถตั้งลักษณะการแสดงเมื่อถึงช่วงพักสายตาได้ 4 ลักษณะ เช่น Breaks dialog เป็นลักษณะแสดงข้อความเตือนว่าควรพักสายตา  Breaks screen เป็นลักษณะแสดงสีต่างๆ ตามตั้งค่า Image เป็นลักษณะแสดงภาพตามตั้งค่า (ดังแสดงในรูป) และ Slide เป็นลักษณะแสดงการเลื่อนเปลี่ยนภาพไปเรื่อยๆตามตั้งค่าไว้ นอกจากนั้นยังสามารถตั้งค่ารหัสผ่านได้ ซึ่งเป็นการตั้งค่ารหัสสำหรับใช้ในโหมดผู้ปกครอง (Parent mode) เพื่อป้องกันผู้ใช้จากการปรับเปลี่ยนการตั้งค่าการเตือน หรือปิดการเตือนในขณะโปรแกรมทำงาน หรือปิดโปรแกรม

รูปแสดงลักษณะการแสดงภาพเมื่อถึงช่วงพักสายตา

(2)                โปรแกรม Workrave เป็นโปรแกรมประเภท Freeware ลักษณะการทำงานของโปรแกรมคือ จะเตือนผู้ใช้ให้ละสายตาจากจอคอมพิวเตอร์และปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะๆ ตามการตั้งค่า โดยสามารถตั้งค่าการเตือนเบื้องต้น เช่น สามารถตั้งเวลาให้ผู้ใช้วางมือจากการจับเมาส์เป็นระยะๆ ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาทำงานตามที่ตั้งไว้ โปรแกรมจะแสดงกล่องข้อความขึ้นมา หรือ ตั้งเวลาเพื่อให้ผู้ใช้หยุดใช้งานคอมพิวเตอร์ชั่วคราวแล้วเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาทำงานตามที่ตั้งไว้ โปรแกรมจะแสดงหน้าต่างแนะนำท่าทางสำหรับออกกำลังกายพร้อมคำอธิบายประกอบ ดังแสดงในรูป


รูปแสดงหน้าต่างแนะนำท่าทางสำหรับออกกำลังกายพร้อมคำอธิบายประกอบ

            3.       การให้คำแนะนำ (Counseling) ผู้วิจัยแนะนำการปรับเปลี่ยนท่าทางการนั่งของกลุ่มเป้าหมายให้ถูกวิธี โดยแสดงผลการประเมินท่าทางการใช้งานคอมพิวเตอร์ของร่างกายส่วนบน (RULA) และผลการคำนวณหาค่าแรงกด (Compressive force) ที่กระทำตรงบริเวณหลังส่วนล่าง (L5/S1) ในขณะใช้งานคอมพิวเตอร์ของกลุ่มเป้าหมายแต่ละคน (โดยแต่ละคนมีผลการประเมินที่แตกต่างกัน) ซึ่งการให้คำแนะนำจะทำเป็นรายบุคคล
หลังจากดำเนินการใน 3 วิธีข้างต้น จะมีการประเมินความคิดเห็นต่อแนวทางต่างๆโดยให้กลุ่มเป้าหมายตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความพึงพอใจของแนวทางต่างๆ พบว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ มีความพึงพอใจแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางการใช้คอมพิวเตอร์โดยการให้ความรู้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็นร้อยละความพึงพอใจเท่ากับ 90.67 มีความพึงพอใจแนวทางการให้คำแนะนำเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นร้อยละความพึงพอใจเท่ากับ 90.00 และมีความพึงพอใจแนวทางการใช้ตัวเตือนเป็นอันดับที่ 3 คิดเป็นร้อยละความพึงพอใจเท่ากับ 80.67

3. การศึกษาท่าทางการเคลื่อนย้ายถังไนโตรเจน

เบญจพร หุนแดง และ วรรณิการ์ เมืองโคตร (2555) ได้ทำการศึกษาท่าทางการเคลื่อนย้ายไนโตรเจนเหลวของพนักงาน ในศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพสงขลา ศูนย์วิจัยดังกล่าวมีหน้าที่หลักในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีการผสมเทียมและวิทยาการสืบพันธุ์สัตว์ ให้บริการเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผสมเทียม การย้ายฝากตัวอ่อน โคนม โคเนื้อ กระบือ สุกร แพะ และปศุสัตว์อื่นๆ ต้องใช้ไนโตรเจนเหลวในการเก็บรักษาน้ำเชื้ออสุจิของสัตว์_ซึ่งศูนย์วิจัยฯทำหน้าที่จัดหาไนโตรเจนเหลวให้กับหน่วยงานต่างๆ ของกรมปศุสัตว์ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด คือ ปัตตานี นราธิวาส สงขลา ตรัง พัทลุง สตูล และยะลา เดือนละ 1-3 ครั้ง ในแต่ละครั้งมีปริมาณการใช้ที่แตกต่างกัน โดยเฉลี่ยเดือนละ 8,000 ลิตร การเก็บกักและบรรจุไนโตรเจนเหลวต้องป้องกันความร้อนจากบรรยากาศภายนอก จึงจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์พิเศษในการบรรจุและรักษาดังแสดงในรูป ซึ่งบรรจุภัณฑ์พิเศษมีราคาค่อนข้างแพง ถังบรรจุภัณฑ์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 เซนติเมตร ความสูง 60 เซนติเมตร น้ำหนัก 5 กิโลกรัม_เมื่อบรรจุไนโตรเจนเหลวจะมีน้ำหนัก 50-60 กิโลกรัม ทำให้เกิดปัญหาในการขนถ่ายเคลื่อนย้ายไนโตรเจนเหลว ในกรณีที่ต้องใช้แรงงานคนในการเคลื่อนย้าย


รูปแสดงตัวอย่างถังไนโตรเจนเหลว

วิธีการเคลื่อนย้ายไนโตรเจนเหลวของศูนย์วิจัยฯใช้แรงงานคนเป็นหลัก โดยมีวิธีการเคลื่อนย้าย คือ พนักงานยกถังไนโตรเจนเหลวน้ำหนัก 50-60 กิโลกรัม ครั้งละ 30-40 ถัง จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าพนักงานต้องออกแรงอย่างมากในการยกถังไนโตรเจนเหลว รวมถึงใช้ท่าทางการยกที่ผิดหลักการยศาสตร์ ทำให้พนักงานมีความเสี่ยงที่จะเกิดกลุ่มอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญและพบบ่อยในปัจจุบัน




รูปแสดงการเคลื่อนย้ายถังถังไนโตรเจนเหลว

งานวิจัยที่ดำเนินการโดย เบญจพร หุนแดง และ วรรณิการ์ เมืองโคตร (2555) ได้มุ่งเน้นที่การลดความเสี่ยงของท่าทางการเคลื่อนย้ายไนโตรเจนเหลว และเสนอแนะแนวทางการเคลื่อนย้ายที่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ให้กับพนักงานของศูนย์วิจัยฯ โดยทำการประเมินความเสี่ยงของท่าทางการเคลื่อนย้ายในปัจจุบัน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อเสนอแนะและปรับปรุงวิธีการเคลื่อนย้ายไนโตรเจนเหลวให้มีความถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอาการผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อที่อาจเกิดขึ้นได้
จากการสัมภาษณ์พนักงานจำนวน 14 คน จากหน่วยงานในสังกัดทั้งหมด 7 จังหวัด คือ ปัตตานี นราธิวาส สงขลา ตรัง พัทลุง สตูล และยะลา ซึ่งแต่ละจังหวัดมีพนักงานยกถังไนโตรเจนเหลวจังหวัดละ 2 คน พบว่าพนักงานทั้งหมดเป็นเพศชาย ที่มีอายุระหว่าง 25-60 ปี ส่วนมากมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า 10 ปี มีช่วงเวลาในการปฏิบัติงาน คือ 10.00-12.00 . ปฏิบัติงานเดือนละ 2-3 ครั้ง ในแต่ละครั้งจะเคลื่อนย้ายไนโตรเจนเหลว 40-50 ถัง จากการวิเคราะห์ข้อมูลภาวะความไม่สบายที่เกิดขึ้น พบว่าในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา พนักงานทุกคนเคยมีอาการปวดและเมื่อยล้าจากการเคลื่อนย้ายไนโตรเจนเหลว โดย พบว่าตำแหน่งบนร่างกายที่พนักงานส่วนใหญ่มีอาการปวดและเมื่อยล้ามากที่สุด คือ บริเวณแขนส่วนล่าง (ร้อยละ 85.7) รองลงมา คือ หลังส่วนล่าง (ร้อยละ 71.4) และมีค่าดัชนีความไม่ปกติ (Abnormality Index; AI) อยู่ระหว่าง 1.88-3.22 การวิเคราะห์และประเมินท่าทางการทำงานโดยใช้เทคนิค RULA และ REBA ซึ่งทำการบันทึกวิดีโอการเคลื่อนย้ายถังไนโตรเจนเหลวตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย (มี 5 ขั้นตอนหลัก) และนำมาทำการวิเคราะห์โดยใช้แบบฟอร์ม  RULA และ REBA พบว่ามีค่าคะแนน RULA เป็น 3 อยู่ 1 ขั้นตอน ซึ่งหมายความว่า ควรตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและปรับเปลี่ยนงานเมื่อจำเป็น และอีก 4 ขั้นตอนที่เหลือ มีคะแนนเป็น 7 นั่นแสดงว่า การทำงานในขั้นตอนส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการยศาสตร์ต้องได้รับการปรับปรุงโดยทันที สำหรับการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค REBA พบว่า มีค่าคะแนน REBA เป็น 5-7 จำนวน 3 ขั้นตอน ซึ่งหมายความว่า ควรทำการศึกษาเพิ่มเติมและรีบดำเนินการปรับปรุง และมีจำนวน 2 ขั้นตอนที่มีคะแนนเป็น 9 นั่นแสดงว่า การทำงานในขั้นตอนส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการยศาสตร์ต้องได้รับการปรับปรุงโดยทันที
จากการคำนวณค่าแรงกดที่กระทำต่อหมอนรองกระดูก L5/S1 ในขณะยกถังไนโตรเจนเหลว โดยการประเมินทางชีวกลศาสตร์ พบว่าค่าแรงกดที่กระทำต่อหมอนรองกระดูก L5/S1 มีค่า 5,596.44 นิวตัน เมื่อเปรียบเทียบค่าที่ได้กับมาตรฐานการยกของของ NIOSH ที่กำหนดให้แรงกดที่กระทำต่อหมอนรองกระดูก L5/S1 ควรมีค่าต่ำกว่าขีดจำกัดเบื้องต้นในการทำงาน คือ 3,400 นิวตัน แสดงว่าการยกถังไนโตรเจนเหลวนั้นควรได้รับการพิจารณาปรับปรุงงาน เนื่องจากมีค่าแรงกดที่กระทำต่อหมอนรองกระดูก L5/S1 สูง อาจก่อให้เกิดความรุนแรง และการบาดเจ็บของโครงร่างและกล้ามเนื้อได้ ในงานวิจัยนี้จึงได้เสนอแนวทางการปรับปรุงงาน ซึ่งสามารถจำแนกได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. การปรับปรุงงานที่ไม่มีค่าใช่จ่ายในการดำเนินงาน
แนวทางการปรับปรุงงานที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เป็นการนำเสนอแนวทางการปรับปรุงงานโดยใช้หลักการยศาสตร์เข้ามาช่วยในปรับปรุงงาน คือ การปรับปรุงท่าทางการทำงานของพนักงานยกถังไนโตรเจนเหลว เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อของพนักงานยกถังไนโตรเจนเหลว การปรับปรุงท่าทางการยกถังไนโตรเจนเหลวของพนักงาน มุ่งเน้นไปที่การลดระดับความเครียดทางกายภาพ และลดค่าแรงกดที่กระทำต่อหมอนรองกระดูก L5/S1 รวมทั้งลดอาการปวดและเมื่อยล้าบนตำแหน่งร่างกายของพนักงาน ซึ่งตำแหน่งที่พบมากที่สุด คือ แขนส่วนล่าง รองลงมา คือ หลังส่วนล่าง โดยให้ผู้ปฏิบัติงานปรับเปลี่ยนท่าทางการยกถังไนโตรเจนเหลวให้มีความถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ เช่น ให้พนักงานอยู่ในท่าทางเตรียมพร้อม ขาชิดถังไนโตรเจนเหลว วางเท้าอย่างถูกต้องและมีความมั่นคง เพื่อป้องกันการเปลี่ยนสมดุลของร่างกาย ให้ถังไนโตรเจนเหลวอยู่ชิดกับลำตัวให้มากที่สุด เพื่อให้น้ำหนักของถังไนโตรเจนผ่านลงที่ต้นขาทั้งสอง ให้พนักงานย่อเข่าให้หลังเป็นแนวตรง รักษาสภาพความโค้งของกระดูกสันหลังให้เป็นแนวตรง เพื่อให้แรงกดบนหมอนรองกระดูกสันหลังมีการกระจายตัวเท่ากัน ให้พนักงานจับถังไนโตรเจนเหลวที่หูจับให้มั่นคงโดยใช้ฝ่ามือจับ เพื่อป้องกันการลื่นหลุดมือ และทำให้จับได้ถนัดและง่ายขึ้น ให้พนักงานค่อยๆ ยืดเข่าเพื่อยืนขึ้น โดยใช้กำลังจากกล้ามเนื้อขา และขณะที่ยกขึ้น โดยหลังจะอยู่ในแนวตรงหรือเป็นไปตามธรรมชาติ
เมื่อทำการคำนวณหาค่าแรงกดที่กระทำต่อหมอนรองกระดูก L5/S1 หลังการปรับปรุงท่าทางการยกถังไนโตรเจนเหลว พบว่าค่าแรงกดที่กระทำต่อหมอนรองกระดูก L5/S1 มีค่าลดลงโดยมีค่า 2,274.97 N ซึ่งมีค่าต่ำกว่าขีดจำกัดเบื้องต้นตามมาตรฐานการยกของ NIOSH คือ ต่ำกว่า 3,400 แสดงว่าการปรับปรุงท่าทางการยกถังไนโตรเจนเหลวมีผลทำให้ลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อของพนักงานได้

2. การปรับปรุงงานที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
การปรับปรุงงานที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เป็นการนำเสนอแนวทางการปรับปรุงงานโดยใช้อุปกรณ์ช่วยในการดำเนินงาน เพื่อสามารถสร้างความสะดวกสบายในการทำงาน รวมทั้งลดความเสี่ยงจากการทำงานที่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ในงานวิจัยนี้ได้ออกแบบอุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนย้ายถังไนโตรเจนเหลว โดยใช้หลักการยศาสตร์มาช่วยในการออกแบบ และให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการวัดขนาดสัดส่วนร่างกายของพนักงาน เช่น ความสูงของอุปกรณ์ ความกว้างของอุปกรณ์ เป็นต้น อุปกรณ์ที่นำเสนอเพื่อการพิจารณาของผู้บริหารศูนย์ฯ ในกรณีที่สามารถจัดหางบประมาณได้ ได้แก่ การจัดสร้างรถเข็น  การปรับพื้นเอียง รถยกถังไนโตรเจนเหลวแบบใช้ระบบคานเลื่อนและรอก ระบบคานยึดและรอก เป็นต้น



ก)      แบบจำลองคานเลื่อนและรอกพร้อมอุปกรณ์


ข)      แบบจำลองคานยึดและรอก พร้อมอุปกรณ์
รูปแสดงอุปกรณ์ที่แนะนำ