วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
การประเมินความล้าด้านจิตใจ
การประเมินความล้าด้านจิตใจของผู้ปฏิบัติงานอาจจะอยู่ในรูปแบบของความเครียด (วิริยานุกูล, 2552) ซึ่งความเครียดเป็นภาวะทางอารมณ์และร่างกายที่อยู่ในความไม่สบาย ทั้งที่เป็นจากสภาวะแวดล้อมและคิดขึ้นมาเอง (เดชคง, 2545) โดยความเครียดมักจะเป็นภาวะทางอารมณ์ที่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างความต้องการและความคาดหวังกับความเป็นจริง ซึ่งในการทำงานที่อยู่ภายใต้ภาวะของการแข่งขันในปัจจุบันอาจจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดภาวะความเครียดหรือความล้าทางจิตใจได้ง่ายขึ้น เช่น การที่ผู้ใต้บังคับบัญชามีหัวหน้าที่เจ้าระเบียบหรือสมบูรณ์แบบอาจจะอยู่ในภาวะเครียดกังวล เนื่องจากต้องคอยระวัง และเกร็งที่จะทำงานเนื่องจากกลัวว่าจะเกิดความผิดพลาดเกิดขึ้น หรือถ้าทำงานกับหัวหน้าที่มีความคาดหวังสูงก็อาจจะทำให้เกิดความเครียด เพราะกังวลว่าอาจจะทำงานไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่หัวหน้ากำหนดไว้ ภาวะความเครียดวิตกกังวล ความไม่สบายใจ อาจจะนำไปสู่อาการเบื่องาน ไม่อยากทำงาน ไม่อยากปรับปรุง ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานและถ้าเกิดขึ้นเป็นเวลานานๆอาจจะนำไปสู่การเกิดอาการท้อแท้ หดหู่ เบื่อหน่าย ซึมเศร้าได้ ดังนั้นในสถานประกอบการและองค์กรต่างๆควรมีการประเมินทางด้านสภาพจิตใจของผู้ปฏิบัติงานเป็นระยะๆ เช่น การประเมินสภาวะความเครียด การประเมินสุขภาพจิต การประเมินคุณภาพชีวิต เป็นต้น เพื่อนำมาปรับปรุงการบริหารจัดการทางด้านบุคคลและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมต่อไป